วิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง! รู้ทัน ลดเสี่ยง เลี่ยงมะเร็งเต้านม
การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
- 80% ของก้อนที่พบบริเวณเต้านมไม่ใช่มะเร็ง
- 80% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด จะมาด้วยอาการพบก้อนที่บริเวณเต้านมและก้อนที่พบเหล่านี้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะตรวจพบหรือคลำได้ด้วยตัวเองไม่ใช่จากแพทย์
ทำไมจึงต้องตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจพบความผิดปกติบริเวณเต้านม เช่น คลำก้อนได้เมื่อมีขนาดเล็ก ก็หมายความว่าแพทย์สามารถจะรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีมาก
การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้
- คุณรู้ว่า เต้านมปกติของคุณเป็นอย่างไร
- คุณรู้ว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับเต้านมของคุณ
- ก้อนที่บริเวณเต้านมไม่ใช่มะเร็งทั้งหมด บางก้อนอาจเป็นซีสท์ (Cyst) หรือถุงน้ำ บางชนิดเป็นแค่เนื้องอกธรรมดา และที่สำคัญที่สุดคือ ก้อนเนื้อบางก้อนแม้จะเจ็บหรือไม่เจ็บก็อาจเป็นมะเร็งได้
ขนาดของก้อนเนื้อที่ตรวจพบบริเวณเต้านม
- ผู้หญิงที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจะสามารถตรวจพบก้อนบริเวณเต้านมได้ขนาดประมาณประมาณ 2 เซนติเมตร
- ผู้หญิงที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองไม่สม่ำเสมอจะสามารถตรวจพบก้อนได้ขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร
- ผู้หญิงที่ไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองจะพบก้อนที่เต้านมขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร
ควรตรวจเต้านมตนเองบ่อยแค่ไหน?
ผู้หญิงทุกคน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
คุณจะตรวจเต้านมในช่วงไหน?
- ถ้าคุณยังอยู่ในวัยที่มีประจำเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ประมาณวันที่ 7-10 นับจากวันแรกของรอบเดือน ช่วงนี้เต้านมของคุณจะหายบวมหรือหายคัดไปแล้ว ทำให้ตรวจพบความผิดปกติได้ง่ายขึ้น
- ถ้าคุณอยู่ในวัยที่ประจำเดือนหมดไปแล้ว เลือกวันไหนก็ได้ที่สะดวกแล้วทำเป็นประจำ เช่น เลือกวันแรกของเดือนซึ่งเป็นวันที่จำง่ายที่สุด ถ้าคุณลืมตรวจก็ให้รีบตรวจเต้านมของคุณในวันที่นึกขึ้นได้ดีกว่าที่จะผ่านไปอีก 1 เดือน
- ถ้าคุณถูกตัดมดลูกไปแล้วและอายุยังน้อยกว่า 50 ปี จะตรวจเต้านมวันไหน? คุณควรเลือกวันที่คุณไม่มีอาการปวดหรือคัดเต้านม
ขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
1. การมอง เพื่อมองหาสิ่งผิดปกติบริเวณเต้านม
ยืนหน้ากระจก
ก. ยืนตรงแขนชิดลำตัว มองเปรียบเทียบบริเวณเต้านมทั้งสองข้างเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติ โดยดูขนาด รูปร่าง รอยบุ๋ม รอยย่น รวมทั้งดูสีของผิวหนังและบริเวณปานนม
ข. ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ดูเต้านมทั้งสองข้างเหมือนข้อ ก. ร่วมกับการขยับแขนขึ้น-ลง
ค. วางมือบนเอวทั้งสองข้าง กดและปล่อยร่วมกับการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าอกสังเกตความผิดปกติบริเวณเต้านมทั้งสองข้าง
ง. อย่าลืมบีบหัวนมเพื่อดูว่ามีน้ำเลือด หรือน้ำเมือกที่ผิดปกติออกจากหัวนมหรือไม่ และควรรีบพบแพทย์เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น
2. การตรวจเต้านม
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจในขณะอาบน้ำ
- ใช้นิ้วมือวางราบบนเต้านม คลำและเคลื่อนนิ้วมือในลักษณะคลึงเบาๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านมทีละข้าง เพื่อค้นหาก้อนหรือเนื้อที่แข็งเป็นไตผิดปกติ
- บริเวณที่พบอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมบ่อยที่สุด คือ บริเวณส่วนบนด้านนอกของเต้านม ฉะนั้นจึงควรให้ความสนใจในการตรวจบริเวณดังกล่าวเป็นพิเศษ ควรคลำบริเวณใต้รักแร้ และเหนือกระดูกไหปลาร้าทั้งสองข้างด้วย ว่ามีก้อนต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปรกติหรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจหน้ากระจก
- ยืนตรงมือแนบลำตัว แล้วยกแขนขึ้นสูงเหนือศีรษะ สังเกตลักษณะของเต้านมทั้งสองข้าง การเคลื่อนยกแขนขึ้นนั้นสามารถมองเห็นความผิดปกติได้ง่าย
- ยกมือเท้าเอว เอามือกดสะโพกแรงๆ เพื่อให้เกิดการเกร็งและหดตัวของกล้ามเนื้ออก แล้วสังเกตดูลักษณะผิดปกติ ทั้งขนาดของเต้า หัวนม โดยดูรวมถึงรอยบุ๋ม รอยหดรั้งต่างๆ ที่ผิดปกติด้วย
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจในท่านอน
- นอนราบยกมือข้างหนึ่งไว้ใต้ศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านมทีละข้าง ระหว่างตรวจต้องคอยสังเกตถึงความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ก้อนแข็ง ก้อนนิ่ม หรือความเจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้น
- การตรวจเริ่มจากบริเวณส่วนนอกและเหนือสุดของเต้านม (จาก X ในภาพ) เวียนไปโดยรอบเต้านมเคลื่อนมือเข้ามาเป็นวงแคบเข้าจนถึงบริเวณเต้านม พยายามตรวจให้ทั่วทุกส่วน
- หลังจากตรวจเต้านมในท่าต่างๆ แล้ว ค่อยๆ บีบหัวนมเบาๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เพื่อสังเกตดูว่ามีสิ่งผิดปกติซึ่งจะไหลออกมาว่ามีหรือไม่
การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต แต่บางครั้ง การดูแลสุขภาพด้วยวิธีพื้นฐานอาจไม่เพียงพออีกต่อไป Extract Plus ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อุดมไปด้วยสมุนไพรจีนจากธรรมชาติ จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมให้การดูแลสุขภาพของคุณดียิ่งขึ้น